คุณแม่หลายท่านมักพบปัญหาว่า ลูกติดขวดแล้วไม่ยอมเอาเต้า จริงๆแล้วทราบหรือไม่ว่า การที่ลูกติดขวดส่วนใหญ่มักเกิดจากคุณแม่นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ลูกติดขวด อาจเป็นเพราะ
- คุณแม่เริ่มให้น้องดูดขวดเร็วเกินไป ซึ่งการดื่มนมจากขวดนั้น ลูกออกแรงดูดเพียงเล็กน้อย นมในขวดหก็ไหลเข้าปากอย่างง่ายดาย ลูกจึงรู้สึกว่าสบายกว่า ง่ายกว่า เมื่อดูดขวด
- น้ำนมคุณแม่มาช้า จึงไม่มีนมให้ลูกในตอนแรก การแก้ปัญหานี้ไม่ยากค่ะ หลังคลอดให้คุณแม่หมั่นกระตุ้นน้ำนม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนม
- มีการอุดตันของท่อน้ำนม ทำให้น้องดูดไม่ออก น้ำนมออกไม่ทันใจ
อาการของทารกติดขวด!
ลูกอาจไม่ยอมเข้าเต้า เมื่อให้เข้าเต้าลูกอาจแสดงอาการหงุดหงิด งอแง ร้องไห้ ผลักเต้า
วิธีแก้ลูกติดขวดไม่เอาเต้า
เมื่อทราบสาเหตุที่ลูกไม่เอาเต้า เอาแต่ขวดแล้ว เรามาดูวิธีการป้องกัน และ การแก้ลูกติดขวดกันนะคะ
- เลือกขนาดหรือไซส์ของจุกนมยาง ให้เหมาะกับวัยของทารก อย่าใช้จุกนมที่มีรูใหญ่ เพราะทำให้ลูกไม่ต้องออกแรงดูดก็ได้น้ำนม ลูกจะรู้สึกว่าสบาย และนำไปสู่การติดขวดและไม่เอาเต้า เช่น หากลูกน้อยอายุ 1-3 เดือน ให้ใช้จุกนมยางไซส์ SS หรือ S เท่านั้น ไม่ควรใช้ไซส์ M หรือ L
- ปรับท่าจับขวดนมเวลาป้อนนม โดยจับขวดนมในลักษณะที่ขวดนมขนานกับพื้น ไม่ควรถือขวดในแนวตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมในขวดไหลเร็วและแรงเกินไป
- งดขวด จุกนมยาง จุกนมหลอก งานนี้คุณแม่ต้องใจแข็งค่ะ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า หากหิว ทางเดียวที่จะได้นมอร่อยๆก็คือต้องดูดจากเต้าคุณแม่ค่ะ
- ปรับท่าให้นม ให้ลูกสามารถงับได้ถึงลานนม
- อุ้มลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกชินกับไออุ่นจากอกแม่
- ปั๊มนมหรือกระตุ้นให้น้ำนมพุ่งก่อนที่จะให้ลูกเข้าเต้า จะช่วยให้ลูกไม่ต้องออกแรงในการดูดมากนัก ลูก จะยอมรับเต้านมแม่ได้ง่ายขึ้น
- สังเกตว่าลูกน้อยมีพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่ หากมีพังผืดจะทำให้ลูกน้อยเข้าเต้ายาก สามารถแก้ไข้ได้โดยให้แพทย์ขลิบพังผืดให้
- สังเกตปริมาณน้ำนมที่ไหลขณะที่ลูกน้อยดูดเต้า บางครั้งลูกน้อยไม่ยอมดูดเต้าเนื่องจากปริมาณน้ำนมที่ไหลแรงเกินไป พุ่งเข้าปากลูก ส่งผลให้ลูกน้อยสำลัก และไม่ยอมเข้าเต้าในครั้งถัดไปได้ คุณแม่น้ำนมเยอะ ก่อนที่จะให้ลูกเข้าเต้าให้คุณแม่ลองนวดบีบหรือปั๊มเอาน้ำนมออกไปส่วนหนึ่งก่อนเล็กน้อย เพื่อให้น้ำนมไม่ไหลออกมาแรงไป ช่วยป้องกันการสำลักได้
- การที่ลูกน้อยไม่เอาเต้าอาจเกิดจากปัจจัยของคุณแม่แต่ละท่าน เช่น คุณแม่มีหัวนมสั้น บอด บุ๋ม บางท่านอาจเป็นไม่มาก หากได้ปรึกษาคลินิกนมแม่ก่อนคลอด อาจช่วยแก้ไขให้หัวนมดีขึ้นจนลูกน้อยสามารถดูดเต้าได้ค่ะ