สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมมาก และ/หรือ คุณแม่ที่ต้องไปทำงาน แต่ต้องการที่จะทำสต๊อกน้ำนม เพื่อให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ไปนานๆ การเก็บรักษานมแม่เป็นเรื่องจำเป็น เราจึงขอนำวิธีการเก็บน้ำนมแม่ แม่ฝากกันค่ะ
การเก็บรักษานมแม่ที่ถูกต้องควร เก็บน้ำนมใส่ในภาชนะที่สะอาด และทำการปิดฝาก หรือปิดถุงทันที โดยให้แบ่งเก็บน้ำนมใส่แต่ละถุงหรือแต่ละขวด ในปริมาณที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อ
วิธีเก็บน้ำนมแม่ที่สะดวกที่สุดคือ เก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งระยะเวลาการเก็บที่เหมาะสมจะแตกต่างกันตามสถานที่เก็บ อาทิ
– กรณีตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยที่ไม่ได้นำเข้าตู้เย็น จะเก็บได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
– กรณีที่คุณแม่ปั๊มนมแล้วเก็บไว้ในกระติกน้ำแข็ง จะสามารถเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
– ตู้เย็นช่องธรรมดา – หากเก็บน้ำนมในช่องธรรมดา จะสามารถเก็บได้ 3-8 วัน
– ตู้เย็นแบบ 1 ประตู – หากเก็บในช่องแช่แข็ง ของตู้เย็นแบบ 1 ประตู จะสามารถเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
– ตู้เย็นแบบ 2 ประตู – กรณีที่คุณแม่เก็บน้ำนมในช่องแข็ง จะสามารถเก็บได้นาน 4-6 เดือน
*ทั้งนี้ไม่ควรเก็บน้ำนมที่ประตูตู้เย็น เนื่องจากอุณหภูมิจะไม่คงที่
นอกจากนี้การเก็บน้ำนมใส่ภาชนะนั้น ไม่ควรใส่จนเต็ม แต่ควรเหลือพื้นที่ไว้บ้าง เพราะเมื่อแช่แข็งแล้วน้ำนมจะขยายตัวขึ้นอีกค่ะ กรณีที่เก็บในถุงน้ำนม คุณแม่ควรแบ่งใส่แต่ละถุงไม่เกิน 7 ออนซ์
ทั้งนี้อุณหภูมิที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ระยะเวลาการเก็บรักษาน้ำนมนั้นต่างกันด้วย หากคุณแม่วางแผนไว้ว่าจะใช้น้ำนมภายใน 2-3 วัน การแช่เย็นจะเหมาะกว่าการแช่แข็ง เพราะการแช่แข็งจะทำลายสารที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่มีอยู่ในน้ำนม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสารบางอย่างในน้ำนมอาจถูกทำลายจากการแช่แข็ง แต่น้ำนมแม่ที่ผ่านการแช่แข็งแล้วก็ยังมีประโยชน์และมีสารอาหารที่จำเป็นมากกว่านมผสมค่ะ
การนำน้ำนมแม่ที่แช่แข็งมาใช้
เมื่อคุณแม่ต้องการนำน้ำนมที่แช่แข็งไว้ มาให้ลูกน้อยดื่ม คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้น้ำนมละลายเองที่อุณหภูมิห้อง เพราะ การละลายน้ำนมที่อุณหภูมิห้อง ต้อใช้เวลานาน และเนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อน การทิ้งน้ำนมให้ละลายที่อุณหภูมิห้อง จะทำให้ไขมันในน้ำนมทำปฏิกิริยากับอากาศภายนอก ส่งผลให้น้ำนมอาจมีกลิ่นเหม็นหืน และ มีกลิ่นแรง ดังนั้นการละลายน้ำนมแช่แข็ง ควรนำมาแช่ตู้เย็นช่องปกติก่อนประมาณ 1 คืน (12 ช.ม.)ก่อนที่จะใช้น้ำนมนั้น ถ้าลูกชอบแบบเย็นๆ ก็แกว่งเป็นวงกลมเบาๆ ให้ไขมันที่แยกชั้นละลายเข้ากัน แล้วป้อนได้เลย แต่ถ้าลูกชอบน้ำนมอุ่นๆ ให้นำน้ำนมนั้นมาแช่น้ำอุ่นก่อน แต่ห้ามใช้น้ำร้อนจัดหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำลายสารอาหารที่อยู่ในนมแม่
ทั้งนี้น้ำนมที่ละลายแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 24 ช.ม. หลังจากนั้นไม่ควรนำมาให้ลูกดื่มค่ะ และไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่ เพราะจะส่งผลให้น้ำนมมีกลิ่นเหม็นหืนมากขึ้น และ มีการเปลี่ยนแปลงอะตอมไขมันในน้ำนมแม่