ทำไมทารกจึงมีผื่น?
เนื่องจากผิวของเด็กทารกแรกเกิดมีลักษณะบอบบาง ระคายเคืองได้ง่าย โครงสร้างผิวยังไม่แข็งแรงดี เซลล์ผิวหนังแท้และหนังกำพร้ายังไม่ยืดหยุ่นแข็งแรง จึงไวต่อสิ่งที่มากระทบอย่างมาก จึงเกิดผดผื่นตามมาได้ง่าย คุณแม่จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาผิวของลูก ผื่น ผื่นแพ้ เพื่อเตรียมพร้อมดูแลให้ถูกต้อง
ลักษณะของผื่นที่พบได้บ่อยในทารก
- ผดร้อน (Miliaria Rubra)
ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis)
มีลักษณะเป็นผื่นแดง ปื้นแดง หรือผิวหนังลอกออกเป็นแผ่น ๆ บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ ก้น โดยเฉพาะบริเวณปลายอวัยวะเพศเด็กชาย อาจเกิดการระคายเคืองแสบได้ง่าย หากมีการอับชื้นเป็นเวลานานอาจเกิดเชื้อราร่วมด้วย มักเกิดจากการเสียดสี แพ้ หรือความอับชื้นจากการสวมใส่ผ้าอ้อมนานเกินไป
ป้องกันได้ไม่ยาก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด และสามารถดูดซึมของเหลวได้ดี จะช่วยลดอาการอับชื้น ร่วมกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกครั้งที่ลูกถ่ายอุจจาระ หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และทาครีมกันผื่นผ้าอ้อมทุกครั้ง
ผื่นแพ้กลากน้ำนม
มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี มีสีขาวจางกว่าผิวหนังปกติของลูก มีขุยบาง ๆ มักเกิดบริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ และแขน พบได้ตั้งแต่แรกเกิด ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
วิธีดูแลเบื้องต้น ให้หลีกเลี่ยงการพาลูกถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ไม่อาบน้ำล้างหน้าให้ลูกบ่อยจนเกินไป อาบแค่เช้าและเย็น เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคืองได้
ผื่นลมพิษ
มีลักษณะเป็นผื่นแดง บวมนูนขึ้น ผื่นจะเป็นๆหายๆมีอาการคัน หากลูกเกาก็จะกระตุ้นให้เกิดผื่นลามมากขึ้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อเช่น ไข้หวัด ลำไส้อักเสบ หรือเกิดจากการแพ้อาหารและสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา ขนสัตว์
วิธีดูแลเบื้องต้น ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกแพ้ หากเป็นเรื้อรังให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา
ไขบนหนังศีรษะ
มีลักษณะผื่นเหลือง ๆ พบได้ตั้งแรกเกิด เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไขมัน หรือมีการอักเสบเกิดขึ้น มักพบบริเวณศีรษะ คิ้ว ใบหน้า ลักษณะคล้ายรังแค
วิธีดูแลเบื้องต้น ใช้ออยล์เช็ดคราบไขต่างๆออกก่อน และสระผมลูกน้อยตามปกติด้วยแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยน เสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง หากมีผื่นที่หน้า สามารถทาครีมเพื่อลดการอักเสบของผิวและต่อมไขมันหลังอาบน้ำเช้า-เย็น
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
มีลักษณะเป็นตุ่มแดง หรือ ตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณใบหน้า และด้านนอกของแขนขา โดยมากขึ้นที่ข้อพัก ข้อศอก ซอกคอ และบริเวณที่เกิดเหงื่อจะมีผื่นแดงและผื่นคันได้ง่าย สาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม หากคุณพ่อหรือคุณแม่มีพันธุกรรมภูมิแพ้ เด็กจะมีความเสี่ยงเกิดภูมิแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นได้มากกว่าเด็กทั่วไป
วิธีดูแลเบื้องต้น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรือใช้น้ำที่ร้อนเกินไป แนะนำให้ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงทันทีหลังอาบน้ำ หากเป็นรุนแรง ผื่นน่ากลัว ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
ผื่นแดงที่มีตุ่มน้ำเล็กๆ ตรงกลาง (Erythema Toxicum)
มักเกิดตอนช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่เป็นอันตรายและสามารถจางหายไปได้เองในเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ
ต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)
หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า “โรคเซ็บเดิร์ม” มีลักษณะเป็นตุ่มแดงร่วมกับเกล็ดสีเหลืองๆ ตามหนังศีรษะ คิ้ว หรือบริเวณที่มีการทำงานของต่อมไขมันมาก ผื่นอาจมากขึ้นช่วง 1-2 เดือนแรกแล้วค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อมีอาการควรให้แพทย์วินิจฉัย เพื่อการดูแลที่เหมาะสมค่ะ
พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ รักษาทุกปัญหาน้ำนมแม่ ทั้งที่บ้าน ที่คลินิก อาทิ นวดเปิดท่อน้ำนม รักษาท่อน้ำนมอุดตัน แนะนำการเคลียร์เต้า สะกิดไวท์ ดอท เป็นต้น
โทร 022207977