โรคกระดูกพรุนเกิดจากการที่กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลง เนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนัก และเกิดการแตกหักตามมา โรคนี้จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคกระดูกพรุน
- ระยะเริ่มต้น โรคนี้ในช่วงแรกจะไม่มีอาการอะไร จะแสดงอาการต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
- ระยะรุนแรง ระยะนี้กระดูกของผู้ป่วยจะบางมาก อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังหักยุบ หรือเกิดกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม ส่วนสูงลดลงเนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง บางครั้งอาจเกิดการปวดหลังร้าวมาที่บริเวณหน้าอก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการทดแทน เสริมสร้างกระดูกส่วนที่สึกหรอช้าลง ดังนั้นหากร่างกายขาดแคลเซียมในปริมาณที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงเมื่ออย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้กระดูกพรุนและเปราะบาง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) น้อยลง
- กรรมพันธุ์ ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของโรคดังกล่าว
- ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับทำงานผิดปกติ เป็นต้น
- การขาดการออกกำลังกาย
การรักษาโรคกระดูกพรุน
มีแนวทางการรักษาดังนี้
- การรักษาด้วยการใช้ยา อาทิ
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน มักให้ในกลุ่มผู้ป่วยตัดรังไข่ หรือ เพื่อลดอาการจากการหมดประจำเดือน
-
แคสซิโนติน (Calcitonin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่สกัดจากปลาแซลมอน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์กระดูกสันหลังหัก มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
-
บิสฟอสพอเนต (Bisphoshonates) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกสันหลังหักยุบ และกระดูกสะโพกหักได้
2. การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก เช่น การฉีดซีเมนต์ที่กระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกสันหลังหัก หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในรายที่กระดูกสะโพกหัก เป็นต้น
การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกระดูกพรุน
กายภาพบำบัดจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้การทรงตัวดีขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดการพลัดตกหกล้ม ทั้งยังมวลกระดูกไม่เสื่อมสลายเร็ว ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละมัด เพื่อออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล นอกจากนี้การออกกำลังกายในน้ำหรือทำธาราบำบัด สามารถช่วยลดแรงกระแทกระหว่างการออกกำลังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีอาการปวดได้อีกด้วย