ปัญหาทารกสำลักนมจนไม่เอาเต้า มักพบในคุณแม่ที่มีปริมาณน้ำนมเยอะ ที่ในหลายๆครั้งน้ำนมจะพุ่งจากปฏิกิริยา Let down reflex ส่งผลให้ลูกกลืนน้ำนมไม่ทัน จนอาจเกิดการสำลัก และไม่ยอมเข้าเต้าอีก การที่ลูกสำลัก อาจเป็นอันตรายแก่ลูกน้อยได้
การแก้ปัญหาน้ำนมพุ่ง จนลูกสำลัก ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ วิธีการแก้ไขเบื้องต้นดังนี้
ก่อนให้นม ให้คุณแม่บีบน้ำนมออกจากเต้าก่อนบางส่วน จนรู้สึกว่าหัวนมและลานนมเริ่มนิ่ม เพื่อลดความดันในเต้าลง
ปรับท่าให้นม โดยให้คุณแม่อยู่ในท่านอนหงาย และให้ลูกนอนคว่ำบนอกแม่ หรืออาจใช้ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน เพราะท่านี้ทำให้น้ำนมไหลช้าลง
ใช้นิ้วชี้ และ นิ้วโป้งกดบริเวณลานนม ขณะให้นม เพื่อลดความแรงของนมที่ไหลไปให้ลูก
หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วลูกยังคงสำลัก ให้ลูกดูดนมเพียงเต้าเดียวจนอิ่ม ส่วนอีกเต้าให้ใช้วิธีการบีบมือ หรือทำการปั๊มนมออก
ใช้แผ่นป้องกันหัวนม หรือ nipple shield ครอบก่อนให้ลูกดูด แต่ไม่ควรใช้นานจนเกินไปเพราะแผ่นป้องกันหัวนมอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนม และนิสัยการดูดนมของลูกได้
จับลูกเรอทุกครั้งหลังจากทานนม สำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิดจนถึง 2 เดือน ควรใช้วิธีอุ้มลูกนั่งตักใช้มือประคองช่วงขากรรไกรเพื่อประคองศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังโดยการลูบขึ้นเบาๆ โดยที่ให้อุ้มนั่งให้ตัวตรงหรือโน้มมาด้านหน้า และต้องประคองคอให้ดี สำหรับเด็กที่คอแข็งแล้ว ให้ใช้วิธีอุ้มพาดบ่าใช้มือประคอง ลูบหลังขึ้นเบาๆ
ทราบได้อย่างไรว่าลูกสำลักนม?!
หากลูกมีอาการไอ หรือ ขย้อนนมออกมาในระหว่างที่ดูดนม อาจแสดงว่าเกิดการสำลักขึ้น หรือถ้าอาการสำลักนั้นรุนแรง ลูกอาจไอแรง จนหน้าเขียว มีเสียงหายใจครืดคราด กรณีนี้ควรรีบนำลูกไปพบแพทย์โดยด่วน
พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ (โดยเครือรพ.ธนบุรี) ดูแลปัญหาน้ำนมแม่ ทั้งที่บ้าน และ ที่คลินิก โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมด้านการดูแลคุณแม่หลังคลอดมาโดยเฉพาะ ภายใต้การดูแลของแพทย์กุมารเวช และ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
โทร 02246 6124