![โรคกระดูกพรุน](https://premierehomehealthcare.co.th/wp-content/uploads/2021/05/โรคกระดูกพรุน-3.jpg)
โรคกระดูกพรุน เกิดจากการที่กระดูกเริ่มมีอาการเสื่อมและบางลง เนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนัก และเกิดการแตกหักตามมา พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคกระดูกพรุน
– ระยะเริ่มต้น โรคนี้ในช่วงแรกมักไม่มีอาการ จะแสดงอาการต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
– ระยะรุนแรง กระดูกของผู้ป่วยจะบางมาก อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังหักยุบ หรือเกิดกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม ส่วนสูงลดลง เนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง บางครั้งอาจเกิดการปวดหลังร้าวมาที่บริเวณหน้าอก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน
– อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการทดแทน เสริมสร้างกระดูกส่วนที่สึกหรอช้าลง ดังนั้นหากร่างกายขาดแคลเซียมในปริมาณที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
– การขาดสารอาการ จำพวกแคลเชียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซน และเสริมสร้างมวลกระดูก และวิตามินดีที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
– ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงเมื่ออย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้กระดูกพรุนและเปราะบาง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) น้อยลง
– กรรมพันธุ์ ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของโรคดังกล่าว
– ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับทำงานผิดปกติ เป็นต้น
– ยาบางชนิด เช่น ยาเสตียรอยด์
– การขาดการออกกำลังกาย ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง
การรักษาโรคกระดูกพรุน
1.การออกกำลังกาย และ/หรือ การทำกายภาพบำบัด
– การออกกำลังกายแบบมีการลงน้ำหนัก (Weight bearing exercise)
ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้แคลเซียมกลับเข้าไปในกระดูก ทำให้กระดูกมีการหนาตัวมากขึ้นตามมา เช่น เดิน ขึ้นลงบันได วิ่งเหยาะๆ เต้นรำ เต้นแอโรบิค เดินในน้ำ วิ่งในน้ำ เป็นต้น
– การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strengthening exercise)
เป็นการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ส่งผลให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก เช่น การใช้น้ำหนักตัวเองเป็นแรงต้าน(วิดพื้น สควอช) การยกน้ำหนัก(ดัมเบลหรือถุงทราย) หรือใช้เครื่องออกกำลังกายแบบต่างๆ เป็นต้น
– การออกกำลังกายเพิ่มความสามารถในการทรงตัว (Balance training exercise )
ช่วยเพิ่มความสามารถในการทรงตัว และการทำงานของกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงในการหกล้ม เช่น การฝึกยืนบนโฟม การออกกำลังกายแบบสลับขายืน การเดินต่อเท้า เป็นต้น
2.การใช้ยา
– ฮอร์โมนเอสโตรเจน มักให้ในกลุ่มผู้ป่วยตัดรังไข่ หรือ เพื่อลดอาการจากการหมดประจำเดือน
– แคสซิโนติน (Calcitonin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่สกัดจากปลาแซลมอน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและลดอุบัติการณ์กระดูกสันหลังหัก มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
– บิสฟอสพอเนต (Bisphosphonates) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกหักและยุบ
3. การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก
การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกระดูกพรุน
กายภาพบำบัดจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความสามารถในการทรงตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การทรงตัวดีขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดการพลัดตกหกล้ม ทั้งยังช่วยให้มวลกระดูกมีมากขึ้นไม่เสื่อมสลายเร็ว ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละมัด เพื่อออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล นอกจากนี้การออกกำลังกายในน้ำหรือทำธาราบำบัด สามารถช่วยลดแรงกระแทกระหว่างการออกกำลังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีอาการปวดได้อีกด้วย
พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ บริการกายภาพบำบัด และ บริการพยาบาล ถึงบ้าน อาทิ ทำแผล เจาะเลือดตรวจแล็บสุขภาพ เปลี่ยนสายสวนปัสสะวะ สายให้อาหาร เป็นต้น
โทร 02106 0077
Line ID: @PHHC