การใช้จุกหลอดให้ปลอดภัย

   จุกหลอก คือจุกนมปลอมที่ผลิตจากยาง หรือซิลิโคน ซึ่งคุณแม่หลายๆท่านใช้เป็นตัวช่วยในการเลี้ยงทารก แทนการดูดนิ้วของทารก และช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดี ทั้งยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงสั้นๆให้ทารกหยุดร้องไห้เมื่อไม่ได้เข้าเต้าได้ 

ทารกควรใช้จุกหลอกเมื่อไหร่

หากมีความจำเป็นต้องใช้จุกนมหลอก ควรเริ่มเมื่อทารกสามารถเข้าเต้าได้เป็นอย่างดีแล้ว คือ หลังจากอายุประมาณ3-4สัปดาห์ เพื่อป้องกันปัญหาการติดจุกหลอกจนไม่ยอมทานนมแม่

ทารกควรเลิกใช้จุกหลอกเมื่อไหร่ ควรลดหรือหยุดใช้จุกหลอกก่อนอายุ 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในหูชั้นกลางเฉียบพลัน และก่อนอายุ 3 ปี เพื่อป้องกันการสบกันฟันผิดปกติ
หากลูกอายุมากกว่า4ปีแล้วและยังติดจุกหลอกอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ปัญหาการติดจุกหลอก

ข้อดีของการใช้จุกหลอก

  • ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดี ไม่งอแง

เนื่องจากทารกมักต้องการดูดของบางอย่างเวลาที่รู้สึกเบื่อ หรือต้องการความสบายใจ นอกจากนี้การดูดจุกหลอกยังช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้นด้วย

  • ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้ในช่วงสั้นๆ  จุกหลอกเป็นตัวช่วยที่ดี เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย อาทิ เวลา ฉีดวัคซีน เจาะเลือด หรือช่วยบรรเทาความหิวขณะที่รอคุณแม่เตรียมนมให้ทานได้
  • ป้องกันไม่ให้ทารกดูดนิ้ว เนื่องจากทารกมักชินกับการดูด และเมื่อไม่มีอะไรดูด มักชอบดูดนิ้วตัวเอง ซึ่งนิ้วมือของเด็กมักสัมผัสกับสิ่งของ และของเล่นรอบตัว เสี่ยงที่จะรับเอาเชื้อโรคที่เป็นอันตรายจากสิ่งของเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งยังช่วยไม่ให้เด็กเสียบุคลิกจากการดูดนิ้ว เนื่องจากการเลิกดูดนิ้วในตอนโตจะทำได้ยากกว่าการเลิกดูดจุกหลอกอีกด้วย
  • ลดความเสี่ยงของโรคไหลตาย หรือ sudden infant death syndrome(SIDS) โดยมีสาเหตุเกิดจากมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจของทารกขณะนอนหลับ ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 2-4 เดือน การให้ทารกดูดจุกหลอกขณะนอนหลับทำให้ตำแหน่งของลิ้นไม่อุดกลั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้

ข้อเสียของการใช้จุกหลอก

  • ทารกติดจุกหลอก หากให้ลูกน้อยดูดจุกหลอกบ่อย อาจทำให้ลูกติดจุกหลอก จนอาจงอแงเมื่อไม่ได้ดูดจุกหลอด ดังนั้นคุณแม่ควรลองหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ทารกหยุดร้องไห้เช่น เปลี่ยนท่านอน แกว่งที่นอนเบาๆ หรืออุ้มทารกแกว่งไปมาเบาๆ เพื่อทำให้ทารกหยุดร้องก่อนที่จะตัดสินใจให้ดูดจุกหลอกต่อทันที
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูชั้นกลาง (otitis media) กลไกการเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าวสันนิษฐานจากการเปลี่ยนแปลงความดันขณะมีการดูดจุกหลอกของทารก ช่วยเพิ่มการย้ายที่ของเชื้อโรคและสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและคอไปยังหูชั้นกลางได้
  • มีปัญหาต่อสุขภาพฟันของทารก การใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือใช้จุกหลอกในเด็กที่อายุเกิน1ขวบขึ้นไป หรือใช้จุกหลอกมานานกว่า 1 ปี อาจทำให้ฟันขึ้นในลักษณะที่ผิดปกติ ฟันเก หรือการสบฟันผิดปกติ
  • ทารกไม่ยอมทานนมแม่ เนื่องจากจุกหลอกมีลักษณะคล้ายหัวนมแม่ ทารกบางคนที่ใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานานอาจรู้สึกคุ้นเคยกับจุกหลอกมากกว่าหัวนมแม่ ส่งผลทำให้ทารกไม่ยอมทานนมแม่ได้
    จึงควรเริ่มใช้จุกหลอกในทารกที่อายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป

การใช้จุกหลอกให้ปลอดภัย

  • ควรล้างทำความสะอาดจุกหลอกเป็นประจำ และไม่ควรใช้จุกหลอกร่วมกับเด็กทารกคนอื่น
  • ควรเปลี่ยนจุกหลอกอันใหม่ทุก 1 เดือน หรือเปลี่ยนเมื่อจุกหลอกเป็นรอย ฉีกขาด  หรือชิ้นส่วนหลวม เพราะร่องรอยฉีกขาดจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และชิ้นส่วนที่หลุดหรือขาดทารกอาจกลืนเข้าไปได้
  • ควรเปลี่ยนจุกหลอกให้เหมาะกับอายุของทารก เนื่องจากจุกหลอกแต่ละขนาดได้รับการออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับพัฒนาการของปากทารกแต่ละวัย
  • ไม่ควรใช้สายคล้องจุกหลอกกับเสื้อผ้าของทารก เพราะสายคล้องอาจพันคอทารกจนเกิดอันตรายได้
  • ไม่ควรนำจุกหลอกไปเคลือบหรือจุ่มในสารให้ความหวาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกและทำให้เด็กฟันผุได้

พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ รักษาทุกปัญหาน้ำนมแม่ ทั้งที่บ้าน ที่คลินิก อาทิ นวดเปิดท่อน้ำนม รักษาท่อน้ำนมอุดตัน แนะนำการเคลียร์เต้า สะกิดไวท์ ดอท เป็นต้น

โทร 022207977