โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เกิดจากการที่สมองขาดออกซิเจน อันเนื่องมาจากเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน หรือแตก ทำให้การทำงานของสมองส่วนต่างๆ ผิดปกติ
สมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมหน้าที่ต่างๆของร่างกาย หากสมองตายไปเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด พฤติกรรม และความจำ นอกจากนี้ยังทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายในส่วนที่สมองส่วนนั้นๆ ควบคุมอ่อนแรง
ความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นจะเป็นมากหรือน้อย ขึ้นกับว่าสมองส่วนใดขาดเลือดไปเลี้ยง และขาดเลือดไปเลี้ยงมากน้อยขนาดใด
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
1. การมีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพราะสามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอัมพาตได้ 3 เท่า เนื่องจากไปทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ
ระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูงนั้น ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 140 ซิสโตลิก และ/หรือ 90 ไดแอสโตลิก
ความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการให้เห็น คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยทราบว่าตัวเองเป็นความดันโลหิตสูง ดังนั้นทุกท่านจึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกาย และวัดระดับความดันโลหิตของตนเอง และพยายามรักษาความดันโลหิตของตนให้อยู่ในระดับที่ปกติอยู่เสมอ
2. การสูบบุหรี่ สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตได้ถึง 2 เท่า เนื่องจากบุหรี่มีผลทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ และหลอดเลือด โดยลดปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือด เพิ่มความหนืดของเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี ไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสมอง ทำให้เกิดอัมพาตได้
3. การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพาตได้
4. การมีไขมันในเลือดสูง ทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จะทำให้เกิดเป็นก้อนไขมันเกาะติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวแข็งขึ้นและหลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพาตได้
5. การบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารมากจนเกินไป จนทำให้อ้วน การรับประทานอาหารที่มีเกลือและไขมันสูง การรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้น้อยเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำจะไปทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตมากขึ้น
สัญญาณเตือนภัย อัมพฤกษ์ อัมพาต
อาการเตือนภัย ที่อาจเป็นสัญญาของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้แก่
1. ชา หรืออ่อนแรงที่หน้า แขน หรือขา ซีกใดซีกหนึ่ง อย่างทันทีทันใด
2. ความรู้สึกตัวเปลี่ยน (เอะอะ โวยวาย สับสน ซึมลง) หรือพูดลำบาก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูด อย่างทันทีทันใด
3. มีปัญหาการมองเห็น ตามัว หรือเห็นภาพซ้อนของตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อย่างทันทีทันใด
4. มีอาการมึนงง เวียนศีรษะ เดินไม่ได้ เดินลำบาก เดินเซ หรือสูญเสียการทรงตัวในการยืนและเดิน อย่างทันทีทันใด
5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อย่างทันทีทันใด โดยไม่ทราบสาเหตุ
ดูแลอย่างไรไม่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
การดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต มีข้อปฏิบัติดังนี้
1. การรักษาและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่การรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การงดสูบบุหรี่
2. การป้องกันการกลับเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
3. การลดอาหารไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว อาหารเค็ม กินผักและผลไม้ให้มาก
4. จำกัดการดื่มสุรา เบียร์
5. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
6. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
การฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์
การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยจะต้องมีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
จุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูร่างกาย และการทำกายภาพบำบัด คือเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกฝนทักษะต่างๆ และเพิ่มความมั่นใจ และทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด
แนวทางการป้องกันโรคอัมพาต อัมพฤกษ์
1. ควบคุมความดันโลหิต
ควรตรวจเช็คความดันโลหิตเป็นประจำ เพราะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์
2. ไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จากการวิจัยพบว่าผู้ที่เลิกบุหรี่ไปแล้ว 2-5 ปี จะมีโอกาสเกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ น้อยกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น นอกจากนี้การออกกกำลังกายยังช่วย ในการควบคุมความดันโลหิตและน้ำหนักตัว ซึ่งจะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง ต่อการที่จะเกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์
4. ทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรทานผักผลไม้สดให้มาก หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และควรรับประทานปลาเป็นประจำเพราะปลาจะมี omega-3 fatty acids ที่ช่วยลดการอุดตันของลิ่มเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์
5. ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากมีโรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นเบาหวานหากปล่อยให้น้ำตาลสูง โดยไม่ควบคุม เส้นเลือดจะแข็ง ตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ มากขึ้น
การเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยอัมพฤษก์ อัมพาต ก่อนกลับบ้าน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน มีดังนี้
การเตรียมที่อยู่ที่ปลอดภัย
เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตหลังออกจากโรงพยาบาลร่างกายยังไม่แข็งแรงพอจึงจำเป็นต้องเตรียมสถานที่เพื่อให้ปลอดภัย และส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูสภาพดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องจัดเตรียมดังต่อไปนี้
ห้องนอน ควรจัดห้องนอน ห้องน้ำ และห้องอาหารให้อยู่ชั้นเดียวกัน เพื่อที่ผู้ป่วยสามารถเดินช่วยตัวเองให้มากที่สุด
· เตียง ผู้ป่วยที่ยังช่วยตัวเองไม่ดี หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้ควรใช้เตียงเหมือนเตียงในโรงพยาบาล พื้นเตียงควรเป็นพื้นไม้ โดยสามารถปรับหัวเตียง และมีราวสำหรับให้ผู้ป่วยยึดจับสำหรับพลิกตัว เตียงควรมีความสูงพอเหมาะที่จะดูแลผู้ป่วยได้ง่าย ผู้ป่วยสามารถนั่งที่ขอบเตียงโดยเท้าแตะพื้น
· หากผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวด้วยตัวเอง อาจมีความจำเป็นต้องใช้เตียงลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ
· ควรติดราวไว้ในห้องน้ำ และทางเดินเพื่อให้ผู้ป่วยยึดเวลาเดิน
· ดูเรื่องแสงต้องสว่างพอ
· ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะผู้ป่วยอาจจะสะดุดได้
การเตรียมเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิต
ผู้ป่วยที่ยังไม่แข็งแรงเดินด้วยตัวเองไม่คล่องจำต้องมีเครื่องช่วยเดิน เช่น
· เตียงนอนควรเป็นเตียงที่แข็งแรง พื้นเตียงควรเป็นไม้ และสามารถปรับความสูงต่ำได้
· ที่นอน ต้องเป็นที่นอนที่แน่น ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป ผ้าปูที่นอนต้องขึงตึง ไม่มีรอยย่นหรือรอยพับ เพื่อกันไม่ให้เกิดการถูไถกับผิวหนังผู้ป่วยอันจะนำมาซึ่งแผลกดทับได้
· cane ไม้เท้าช่วยเดิน อาจมีขาเดียว 3ขา หรือ4ขา เหมาะสำหรับประคองตัว
· walker เป็นคอกสี่เหลี่ยมมี4ขาใช้สำหรับประคองตัว
· braces อุปกรณ์ให้ข้อเท้า และเท้าอยู่ในตำแหน่งที่เดินได้
· Wheelchair รถเข็นสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้
· อุปกรณ์เสริมอื่น เช่น กระโถน ถาดอาหารเป็นต้น
พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ ให้บริการดูแลทุกปัญหาน้ำนมแม่ ทั้งที่บ้าน และ ที่คลินิก อาทิ นวดเปิดท่อน้ำนม กระตุ้นน้ำนม ในคุณแม่แรกคลอด คุณแม่ที่น้ำนมน้อย รักษาท่อน้ำนมอุดตัน เคลียร์เต้า
โทร 021147399