เมื่อไรจึงควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า?
- เมื่อมีอาการปวดข้อมาก จนต้องใช้ยาควบคุมอาการ หรือใช้ยาแล้วก็ยังคงมีอาการปวดมาก หรืออาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบากขึ้น ไม่อยากขึ้นบันได ไม่อยากเดินานๆ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าผิดรูป เช่น เข่าโก่ง ไม่สามารถงอ-เหยียดข้อเข่าได้สุด และความผิดปกตินี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
รูปแบบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามี 2 แบบ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty: TKA)
คือการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าส่วนที่เสียหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด ทั้งส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งฝั่งด้านในและด้านนอก (Medial and Lateral Compartment) แล้วแทนที่ด้วยผิวข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะอัลลอยด์ครอบ หรือคลุมกระดูกส่วนที่เฉือนออกไป โดยมีแผ่นโพลีเอทิลีนชนิดพิเศษกั้นระหว่างโลหะ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกอ่อน และเอ็นภายในข้อเข่าไปมากแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอายุมาก (> 60ปี) และมีแนวขาที่ผิดรูปร่วมด้วย ทั้งนี้การผ่าตัดจะสามารถแก้ไขการผิดรูปได้ในคราวเดียวกัน
- การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบเฉพาะฝั่ง (Unicompartmental Knee Replacement)
เป็น การผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายออก ทั้งกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เฉพาะด้านในหรือด้านนอก (Medial or lateral compartment) จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น มักทำในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกยังไม่มาก และเป็นเฉพาะฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นการผ่าตัดที่สามารถเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ รวมถึงเส้นเอ็นภายในข้อเข่าให้อยู่ในสภาพเดิม และเนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนนั้นเป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่ยาวเพียงแค่ 3 – 3.5 นิ้วเท่านั้น จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่าน้อยลง ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด
ทั้งนี้การพิจารณาการเปลี่ยนข้อเข่า ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยสาเหตุ ระยะของพยาธิสภาพ รวมไปถึงการประเมินช่วงการเคลื่อนไหว ความมั่นคง และความแข็งแรงของข้อเข่า นอกจากนี้การตัดสินใจเลือกรุ่นของข้อเข่าเทียมและเทคนิคการผ่าตัดยังต้องคำนึงถึง อายุ น้ำหนัก ระดับกิจกรรม รูปร่างของเข่าและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย
วิธีการดูแลตัวเอง หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
- หากมีอาการปวด บวม สามารถทำการประคบเย็นข้อเข่าได้ โดยประคบเป็นระยะเวลา 10-15 นาทีจนเริ่มรู้สึกชาสักพัก จึงค่อยหยุดประคบ ทำวันละ 2-3 ครั้งต่อวัน
การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าสามารถทำได้ทันทีหลังผ่าตัดวันแรก ดังนี้
- 0-1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการข้อติดขัดในช่วงแรก และมีอาการปวดมาก การฝึกช่วงแรกจึงเป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว และลดอาการปวดและบวม และการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงการดูแลข้อเข่าหลังจากผ่าตัด
- 2-3 สัปดาห์หลังการผ่าตัด จะเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า และการฝึกการเดิน ผู้ป่วยบางรายอาจปัญหาเรื่องของการทรงตัว อาจจำเป็นต้องฝึกใช้อุปกรณ์สำหรับฝึกเดินต่างๆ
- 3 สัปดาห์ หลังผ่าตัดเป็นต้นไป จะเน้นการฝึกการทรงตัวขณะเดิน การปรับท่าทางของการเดิน และการดูแลข้อเข่าหลังจากกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน
พรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ โดย เครือรพ.ธนบุรี ให้บริการกายภาพบำบัดถึงบ้าน อาทิ กายภาพบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต ตลอดจนกายภาพบำบัดออฟฟิศ ซินโดรม รักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่
โทร 022207977
Line ID: @PHHC