Colic หรือที่บางคนเรียกว่า เด็กร้อง 3 เดือน มักเกิดกับทารกในช่วง 3 เดือนแรก หลังจาก 3 เดือนแล้ว อาการร้องไห้แผดเสียงอย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็จะหายไปเอง
รู้ได้อย่างไร ว่าลูกน้อยเป็น โคลิก
- ลูกร้องไห้หนักมากและร้องไห้ในช่วงเวลาเดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือหัวค่ำ และร้องเสียงดัง เสียงแหลม แผดเสียงนานกว่าปกติ ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด
- เวลาร้องไห้ ลูกจะหน้าแดง กำมือแน่น ขาทั้ง 2 ข้างงอเข้าหาอก
- ร้องไห้นานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนานกว่า 3 สัปดาห์
สาเหตุของโคลิค (Colic)
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดโคลิค แต่สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะลูกน้อยเกิดความไม่สบายตัว อาทิ
- มีความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- ถูกเร้าจากภาวะแวดล้อม เช่น เสียงดัง แสงจ้า หรือกลิ่นบุหรี่
- เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลของคุณแม่ ทั้งนี้ยังพบว่าความเครียดของแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์มีผลให้เกิดโคลิคในเด็กได้
การดูแล และการรับมือเมื่อทารกมีภาวะโคลิก
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนที่ก่อให้เกิดภาวะโคลิก จึงไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับภาวะโคลิก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้คือ การลดความไม่สบายตัวของลูกน้อย อาทิ
- สร้างบรรยากาศในการเลี้ยงดูให้สงบ อาจเปิดเพลงเบาๆให้ลูกฟัง
- สังเกตว่ามีอะไรที่ทำให้ทารกไม่สบายตัว เช่น ผ้าอ้อมเปียก อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ดื่มนมมากเกินไป เป็นต้น
- อุ้มลูกน้อยในแนวตั้ง กอดลูกเ หรือ ลูกหลังบาๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอดแม่
- ห่อตัวลูก จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นเหมือนอยู่ในท้องแม่
- หลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่ที่มีสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงดัง แสงจ้า หรือมีกลิ่นบุหรี่
- นวดผ่อนคลาย นวดท้องให้ลูกอย่างนุ่มนวล โดยนวดตามเข็มนาฬิกา นอกจากจะช่วยให้ทารกผ่อนคลายขึ้นแล้ว ยังช่วยไล่ลมและกระตุ้นระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย
เมื่อลูกร้องไห้ อาจแสดงถึงความต้องการว่าหิว เหนื่อย กลัว หรืออาจร้องไห้เพราะเจ็บป่วย หรือเป็นผลมาจากความผิดปกติในร่างกาย หากลูกร้องไห้หนัก คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพกาย ใจของตัวเองด้วย พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับอาการโคลิคของลูกน้อย