ผู้สูงอายุเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายและอวัยวะหลายๆส่วนอาจเสื่อมสภาพ ประกอบกับการไม่ค่อยได้ใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆถดถอยลง จนอาจนำไปสู่การติดเตียง
ผู้ป่วยติดเตียง หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังจนเกิดสภาวะร่างกายเสื่อมโทรมทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนปกติ ผู้ป่วยจึงไม่อาจเลี่ยงที่จะ ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยติดเตียงจะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธี
- แผลกดทับ
สาเหตุของแผลกดทับมักจะมาจากการที่ผู้ป่วยนอนนาน ๆ ทำให้บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่าง ๆ ขาดเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณผิวหนังจากการกดทับ ทำให้เกิดแผล ทั้งนี้บริเวณร่างกายที่จะเกิดแผลกดทับได้ง่าย เช่น ส้นเท้า ตาตุ่ม ก้นกบและกระดูกสันหลัง การป้องกันแผลกดทับนั้นผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เช่น นอนหงายไปนอนตะแคงสลับซ้าย-ขวากันไปมา นอกจากนี้ควรใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะมาใช้ เช่น เตียงลม เตียงเจล - ความสะอาด
การดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะ จะเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จึงไม่ควรปล่อยถุงปัสสาวะให้โดนพื้น และหมั่นสังเกตสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะเริ่มมีสีขุ่น หรือมีสีน้ำตาลหรือแดง หรือหากมีอาการปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพบแพทย์ทันที
ในกรณีผู้ป่วยที่สวมใส่แพมเพิร์ส ควรหมั่นตรวจเช็คและเปลี่ยนให้ผู้ป่วยอยู่เสมอหลังขับถ่ายหรือปัสสาวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
การดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด เพื่อช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อของหัวใจหรือปอดได้
สภาพแวดล้อม ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมไม่รกทึบ หมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ง่ายในกรณีฉุกเฉิน - การรับประทานอาหาร
ควรปรับเตียงให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ทั้งระหว่างและหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ควรเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการสำลักอาหารจนหลุดเข้าไปในหลอดลม เสี่ยงอาการปอดติดเชื้อ - สุขภาพจิต
ผู้ป่วยมักมีอาการเครียดจากการที่ไม่สามารถทำอะไรเองได้เช่นเดิม ดังนั้น ครอบครัว คนใกช้ชิด และ ผู้ดูแลจึงควรหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย ชวนคุย เพื่อช่วยลดความเครียดของผู้ป่วย รวมถึงหมั่นมาดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย - สุขภาพกาย
ผู้ป่วยติดเตียงควรได้รับการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการยึดติดของข้อต่อ รวมถึงการเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ การกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมานั่งและยืนช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ปอดขยายได้เต็มที่ รวมถึงช่วยลดการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายในการทำกายภาพบำบัดก็เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ